Software Open Source

ซอฟต์แวร์จำกัดสิทธิ์ (Proprietary Software)

ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ หรือ ซอฟต์แวร์จำกัดสิทธิ์ (Proprietary Software) คือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์และจำกัดสิทธิ์ในการใช้งาน ทำซ้ำ แก้ไขดัดแปลง หรือ เผยแพร่ โดยสงวนสิทธิ์ให้เจ้าของ ผู้พัฒนา หรือผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน กล่าวคือผู้ที่ซื้อซอฟต์แวร์มาสามารถใช้งานได้ตามเงื่อนไขเท่านั้น ไม่สามารถทำซ้ำ แก้ไขดัดแปลง หรือเผยแพร่ตัวซอฟต์แวร์ได้ตามต้องการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของ เพราะซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์นั้นยังเป็นทรัพย์สินของเจ้าของโดยตรงนั่นเอง

ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ ส่วนใหญ่จะคล้ายกับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ (Commercial Software) ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก่อนก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้ ผู้ใช้หรือหน่วยงานสามารถเช่า ซื้อ หรือขายไลเซนส์ (License) ได้ ภายใต้ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการใช้งานที่เจ้าของซอฟต์แวร์เป็นผู้กำหนด เช่น จำนวนเครื่อง จำนวนผู้ใช้ หรือระยะเวลาที่สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาและทดสอบอย่างดีโดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้ซอฟต์แวร์มีความเสถียร มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความปลอดภัยมากกว่าซอฟต์แวร์สาธารณะ นอกจากนี้หากพบปัญหาในการใช้งาน เจ้าของหรือผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็พร้อมสนับสนุน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทำให้ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์เป็นประเภทซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

ตัวอย่างซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ ได้แก่

  • ระบบปฏิบัติการ เช่น Microsoft Windows, macOS, Linux
  • ซอฟต์แวร์ประยุกต์ เช่น Microsoft Office, Adobe Photoshop, Google Chrome, Skype, WinRAR
  • เกมคอมพิวเตอร์ เช่น The Sims, Grand Theft Auto, Minecraft

จุดเริ่มต้นและที่มา

คอมพิวเตอร์ช่วงก่อนพ้นยุค 1960 เป็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ที่ราคาแพง มีค่าดูแลรักษาสูง และต้องเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ตลอด ทำให้ลูกค้านิยมเช่ามากกว่าซื้อคอมพิวเตอร์ ส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้ ทางผู้ผลิตก็มักจะให้ซอร์สโค้ดลูกค้าไปติดตั้งและใช้งานฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต่อมา IBM และบริษัทต่างๆ ก็เริ่มแยกบริการซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ออกจากกัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นซอฟต์แวร์โคลสซอร์ส (Closed source) หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่เปิดเผยซอร์สโค้ดให้ผู้ใช้งานเห็น เพื่อปกป้องการลงทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตน และพัฒนามาเป็นซอฟต์แวร์ในเชิงพาณิชย์ที่มีการจำกัดสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ด้วยสัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ (Proprietary Software License)
และในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Unix ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส (Open-source Software) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดให้สิทธิ์ในการใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ เป็นของสาธารณะ จึงช่วยลดต้นทุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ให้เข้ากับความต้องการได้ ทำให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990

ซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าซอฟต์แวร์ที่ต้องจ่ายค่าไลเซนส์หรือค่าลิขสิทธิ์เพื่อใช้งานจะเรียกว่าเป็นซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ได้ทั้งหมด หากแบ่งประเภทซอฟต์แวร์ตามเกณฑ์ดังกล่าวก็จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ซอฟต์แวร์เสรี (Free/Open License) คือซอฟต์แวร์ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อิสระ กับซอฟต์แวร์ไม่เสรี (Non-free License) หรือซอฟต์แวร์ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าของซอฟต์แวร์ก่อนจึงจะใช้งานได้
ในกลุ่มซอฟต์แวร์ฟรี (Free/Open License) ก็จะแบ่งย่อยเป็น

ซอฟต์แวร์สาธารณะ (Public-domain Software) ซึ่งใครก็สามารถนำมาใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของซอฟต์แวร์ เช่น PD, CC0, ELIZA, Spacewar!
ซอฟต์แวร์เสรี (Free Software) ซึ่งให้สิทธิ์ในการใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ เป็นของสาธารณะ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของใบอนุญาตซอฟต์แวร์เสรี เช่น BSD, MIT, Apache, CC BY, Linux, Firefox, LibreOffice
ส่วนในกลุ่มของซอฟต์แวร์ไม่ฟรี (Non-free License) ก็จะแบ่งย่อยออกเป็น
ซอฟต์แวร์แชร์แวร์ (Shareware) อนุญาตให้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ฟรีเป็นระยะเวลาจำกัด หลังจากหมดระยะเวลาทดลองใช้ ผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อใช้งานซอฟต์แวร์ต่อไป เช่น WinRAR, Avast Free Antivirus
ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ (Commercial Software) อนุญาตให้ใช้งานซอฟต์แวร์ได้เฉพาะผู้ที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ เช่น Microsoft Office, Adobe Photoshop, Autodesk

โดยซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ก็จัดอยู่ในกลุ่มซอฟต์แวร์ไม่ฟรีนี้

ข้อผูกมัดทางกฎหมาย

สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ หรือ ไลเซนส์ของซอฟต์แวร์ (Software License) คือเอกสารทางกฎหมายที่ควบคุมการใช้หรือการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ โดยปกติซอฟต์แวร์ทั้งหมดมีลิขสิทธิ์คุ้มครอง เว้นแต่จะระบุไว้ว่าเป็นสาธารณสมบัติ การใช้เอกสารสัญญาจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อการคุ้มครองซอฟต์แวร์

ในกฎหมายของประเทศไทย ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยเจ้าของซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ ทำการซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ หรือจำหน่ายซอฟต์แวร์นั้น ผู้ที่ละเมิดสิทธิของเจ้าของซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์อาจถูกดำเนินคดีทางอาญาและถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างข้อกฎหมายเกี่ยวกับไลเซนส์ของซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ ได้แก่
• พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
• พระราชบัญญัติการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550