Software Open Source

ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (Software Copyright)

ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (Software Copyright) คือลิขสิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองซอฟต์แวร์ตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ โดยให้สิทธิ์นักพัฒนาซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ของตน ในการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมทั้งสิทธิในการให้เช่า โดยทั่วไปอายุการคุ้มครองสิทธิจะมีผลเกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปนี้อีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีข้อกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในงานสร้างซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันไป
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เติบโตขึ้น โดยช่วยให้ผู้สร้างซอฟต์แวร์ได้รับค่าตอบแทนจากผลงานที่สร้างและให้ความคุ้มครองสิทธิ์ในการควบคุมการใช้งานซอฟต์แวร์นั้นๆ ในทางกฎหมาย โดยผู้สร้างสามารถให้สิทธิ์ในการใช้งานและการกระทำตามสัญญาแก่บุคคลหรือองค์กรอื่นๆ ได้ แต่สิทธิ์พื้นฐานในงานสร้างยังคงอยู่กับผู้สร้าง การคัดลอกและการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้สร้างถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และมีผลกฎหมายทางการค้าตามกฎหมายลิขสิทธิ์

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 21 มีนาคม 2538 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยจัดให้เป็นผลงานทางวรรณการประเภทหนึ่ง
งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีขอบเขตการคุ้มครองดังนี้
1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
เจ้าของสิทธิสามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่สาธารณชน รวมทั้งการนำต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวออกให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทกำหนดลงโทษคือโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม คือ การกระทำทางการค้า หรือการกระทำที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นโดยผู้กระทำรู้อยู่แล้ว ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ก็ยังกระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้น ได้แก่ การขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์และนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร มีบทกำหนดลงโทษคือโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับนี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก จะต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
กรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
ค่าปรับที่ได้มีการชำระตามคำพิพากษานั้น ครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าวไรก็ดีการได้รับค่าปรับดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับไว้แล้วนั้น

มูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์

ในปีพ.ศ. 2542 สถิติการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย มีอัตราสูงถึงร้อยละ 81 ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สูญเสียรายได้มากกว่า 3,200 ล้านบาท ความสูญเสียดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย การละเมิดลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ เป็นอุปสรรค ที่บั่นทอนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในภูมิภาค การลดอัตราการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากร การลงทุน และทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากการเก็บภาษีอันจะนำมาพัฒนาประเทศได้อีกด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไทยใช้ความสามารถในการคิดค้น และเพิ่มศักย์ภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชาชน บุคลากรรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่ตลาดแรงงานจะมีภาคธุรกิจรองรับ หากแต่การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ความเจริญเติบโตเหล่านี้หยุดยั้งไป เนื่องจากธุรกิจที่ซื่อสัตย์ไม่สามารถแข่งขันได้ และขาดกำลังใจในการพัฒนาธุรกิจของตน

การซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องเป็นการสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โดยตรงเพื่อให้มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ต่อไปในอนาคต โดยผู้ใช้ควรซื้อลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่ ติดตั้งและใช้งานลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตามสิทธิและเงื่อนไขที่ระบุในใบอนุญาตการใช้งาน ผู้ใช้งานควรศึกษาทำความเข้าใจโดยละเอียดและเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานในการมีลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องเสมอ